Loading...

turn waste to work
เปลี่ยนวัสดุการเกษตรให้สร้างงานสร้างรายได้



PAPA PAPER นวัตกรรมจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดหมอกควันและฝุ่น PM 2.5
ธุรกิจแนวคิด ESG นวัตกรรมเยื่อกระดาษจากวัสดุธรรมชาติ-รีไซเคิล เจาะเทรนด์ตลาดโลกร้อน

PAPA PAPER แบรนด์กระดาษ และเยื่อกระดาษจากวัสดุธรรมชาติ เศษเหลือทิ้งภาคเกษตร อาทิ ใบข้าวโพด ฟางข้าว กล้วย ไผ่ ปอสา และการรีไซเคิลกล่อง เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมาประมาณ 5 ปี จำหน่ายสินค้างานหัตถกรรมในชุมชนทางภาคเหนือ โดยนำเรื่องนวัตกรรมและการออกแบบสินค้า (Product Design) มาเพิ่มมูลค่า เส้นทางของแบรนด์น้องใหม่ในตลาด ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านสมรภูมิการค้า และสงครามราคามาพอสมควร จนมาถึงจุดที่สามารถกำหนด ‘เส้นทางของธุรกิจ’ ได้ชัดเจนมากขึ้น
คุณธนากร สุภาษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด กล่าวว่า สินค้าที่เป็น Mass Product ต้องแข่งขันสูง แต่อาจทำกำไรได้น้อย เหตุนี้ การออกแบบสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ในปี 2545 เน้นออกแบบสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่เป็นหลัก ตอนนั้นมองว่าไม้ไผ่เป็นวัสดุที่มีศักยภาพ และมีมากในพื้นที่ ทว่าเมื่อทำการตลาดเฟอร์นิเจอร์มาระยะเวลาหนึ่ง เกิดคู่แข่งในตลาด และการแข่งขันด้านราคารุนแรง จนในที่สุดต้องออกจากตลาดนี้ไป จากนั้นจึงเบนเข็มสู่เป้าหมายใหม่ เป็นธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) กระดาษทำมือ และเยื่อกระดาษ โดยมองที่การต่อยอดและเพิ่มมูลค่า อิงกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม ใช้แนวคิดพัฒนากระดาษเป็น บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ตอนแรกทำกระดาษจากเยื่อสา (ต้นปอสา) แต่ต้นทุนสูง เนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จึงปรับมาใช้กระดาษจากเยื่อกล้วย เยื่อไผ่ และใบข้าวโพด นำมาใส่ลวดลาย และตกแต่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม และสร้างมูลค่าเพิ่มได้
โดยช่วงแรก ลงทุนในส่วนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้น รวมถึงสร้างการรับรู้ผ่านงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดาษ ทั้งในและตลาดต่างประเทศ จนได้ออเดอร์จากลูกค้าหลายราย อาทิ ลูกค้ารายใหญ่จากญี่ปุ่นที่ต้องการนำสินค้าไปขายในร้าน 100 เยน ทำให้ต้องขยายโรงงานผลิตกระดาษเพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น

แบรนด์ ปาป้า เปเปอร์ PAPA PAPER

คุณธนากร เริ่มทำแบรนด์ PAPA PAPER ของตัวเองขึ้นมา โดยวาง Brand Positioning เป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เน้นผลิตสินค้าตามมาตรฐานส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สำหรับตลาดในประเทศ จับกลุ่มลูกค้าโรงแรม และผู้ที่สนใจนำไปใช้ในงานตกแต่ง โดยแบรนด์ PAPA PAPER ใช้วัสดุที่ผลิตกระดาษจากเยื่อธรรมชาติ ทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล้วย เยื่อไผ่ และฟาวข้าวเหลือทิ้งทางการเกษตร นำมาเพิ่มมูลค่าผ่านนวัตกรรมการผลิตและออกแบบสินค้า รองรับตลาดที่ใส่ใจโลก รวมถึงตลาดต่างประเทศที่มีกฎระเบียบและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์(Mega Trend ) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และปรับตัวไปในทิศทางนี้ ต้นทุนการผลิต เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์เราสามารถแข่งขันได้ โดยโรงงานมีศักยภาพในการผลิตประมาณ 1 แสนยูนิตต่อเดือน มีการบริหารจัดการเพื่อให้ได้ Productivity ของสินค้าตามต้องการ จึงเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและมีกำไร เป็นความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างมีเสถียรภาพ

นวัตกรรมเยื่อกระดาษใส่ใจโลก ECO FRIENDLY PRODUCT

คุณธนากร กล่าวว่า การใช้นวัตกรรม ไม่เพียงผลิตเยื่อกระดาษจากวัสดุธรรมชาติเหลือทิ้ง แต่ยังสามารถรีไซเคิลกล่องกระดาษเป็นวัตถุดิบเยื่อกระดาษเพื่อผลิตเป็นสินค้า จุดแข็งเหล่านี้ จึงยากที่จะมีผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน ผลิตสินค้าแข่งกับเราได้ โดยมีสินค้าได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษเปเปอร์ บอร์ด (กระดาษจั่วปัง) ไส้ในของกล่องหรือแฟ้ม กระดาษกันกระแทกทดแทนโฟม ถุงกระดาษ และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เป็นต้น การผลิตเยื่อกระดาษ เป็นการลอกเลียนจากนวัตกรรมสิ่งทอที่สามารถเพิ่มเส้นใยให้กระดาษมีความคงทน แข็งแรง ลวดลายและสีสันสวยงาม ผลิตภัณฑ์ของเรา เน้นทำเหมือนร้านอาหารตามสั่ง โดยสามารถผลิตได้ตามแนวคิดของลูกค้า จากวัสดุหลากหลายประเภท เช่น ใบข้าวโพด ฟางข้าว ปอสา ไผ่ ต้นกล้วย ใบสับปะรด ผักตบชวา ถั่วลิสง มะพร้าว แม้กระทั่ง เปลือกทุเรียน โดยใช้นวัตกรรมเปลี่ยนวัสดุเป็นเยื่อ เพื่อผลิตเป็นกระดาษที่พัฒนารูปแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สำหรับวัตถุดิบ ควรหาจากแหล่งต้นน้ำในประเทศ และสิ่งนั้นต้องสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยบริษัทเรารวบรวม และรับซื้อใบข้าวโพดมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ พัฒนา ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

จูงใจไร่ข้าวโพด ลดการเผา

PAPA PAPER เน้นทำงานร่วมกับชุมชน อาทิ การจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ไม่เผาไร่ ลดปัญหาหมอกควัน และ PM 2.5 ช่วงแรก ๆ ต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติ และทำความเข้าใจ เพื่อให้ชาวไร่ข้าวโพดเปิดใจและร่วมมือกับเรา ซึ่งการเผาไร่ข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว เป็นการลดต้นทุนในการปรับสภาพพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่แบบง่าย ๆ ของเกษตรกร ดังนั้น การเปลี่ยนพฤติกรรมจึงต้องสร้างแรงจูงใจขึ้นมา โดยให้ราคาใบข้าวโพดที่ 1,000 บาท/ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย อาทิ การร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านต้นเปา จ.เชียงใหม่ เก็บรวบรวมใบข้าวโพดไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงาน ในราคาที่เกษตรกรพอใจ

ความสามารถของธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่นำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าที่ตอบโจทย์ตลาดได้ แต่ยังมีมิติของการทำงานร่วมกับสังคม เกษตรกร หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ผ่านข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างบริษัท เกษตรกร และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นภาคเหนือ เพื่อจัดการและเก็บรวบรวมเปลือกข้าวโพด เพื่อสร้างซัพพลายเชนวัตถุดิบที่สามารถผลิตเป็นเนื้อเยื่อกระดาษได้ ทั้งยังช่วยลดการเผาไร่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดทางภาคเหนือของไทย

Carbon Footprint เปิดโอกาสตลาดต่างแดน

ปาป้า เปเปอร์ เรามองว่า ลูกค้าหลักของเรากว่า 90 % เป็นตลาดส่งออกเยื่อกระดาษในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป และเรามีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product) หรือฉลากคาร์บอน (Carbon Label) เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้แข่งขันได้ เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้าธุรกิจจะสามารถทำรายได้ในตลาดต่างประเทศมากกว่า 400 ล้านบาท ซึ่ง 25 % ของรายได้ เราจะกระจายให้แก่ชุมชนในรูปแบบของการรับซื้อใบข้าวโพด และเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษเพื่อส่งออก

“ธุรกิจเน้นแนวคิด ESG เราส่งเสริมสังคม ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาล มุ่งพัฒนามาตรฐานและระเบียบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนเยื่อกระดาษจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร มีต้นทุนสูงกว่าเยื่อกระดาษจากต้นยูคาลิปตัส ประมาณ 15 % เนื่องจากต้องใช้กระบวนการมากกว่า แต่ข้อดีคือ ทำให้เรารีเทิร์นเป็นการลดค่าภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และ ฉลากคาร์บอนให้แก่ลูกค้าต่างประเทศได้ และด้วยลูกค้าหลักเป็นตลาดส่งออก ดังนั้น มองว่าส่วนนี้จะเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้าได้มากกว่า หากเปรียบเทียบกับต้นทุนราคารับซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งในตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกามีการรับซื้อที่ตันละ 1,500-2,000 บาท ขณะที่ประเทศไทยรับซื้อที่ตันละ 700 บาทซึ่งไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

และเรามองเห็น โอกาสธุรกิจจะมาถึง เมื่อประเทศไทยประกาศเป็นตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่ซื้อขายโดยได้รับการรับรองกฎหมาย (Mandatory Basis) ที่จะมีข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอนุญาตให้ผู้ซื้อ สามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ซื้อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนปล่อยออกไป เพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ ถึงตอนนั้น มูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นทิศทางที่ธุรกิจเราตั้งใจว่าจะไปในแนวทางนั้น

“ผมมีความเชื่อว่า มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่พร้อมร่วมงานกับแบรนด์ PAPA PAPER เพียงแต่เส้นทางใน 3 ปีหลังจากนี้ เราต้องเดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือเตรียมพร้อม และพัฒนามาตรฐานให้เป็นสากล สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ เพื่อดึงดูดคู่ค้าที่ตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และคิดแบบเดียวกับเรา มาร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปได้”

สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นแนวคิดและความต้องการของสังคมใหม่ และนำไปสู่การออกกฎระเบียบ หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะมีผลในทางกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องพบเจอมากขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายบังคับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากพิจารณาจากแนวโน้ม เรื่องนี้ไม่ช้าก็เร็ว จะต้องเกิดขึ้น และวันนั้น ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก จะต้องมองหาพันธมิตร เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาด้านนี้